ความสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิต

                                                                                                                
               การศึกษามีบทบาทเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกสถาบันในสังคมอยู่ตลอดเวลา   ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสถาบันต่าง ๆ จึงมีเกี่ยวเนื่องกับสถาบันการศึกษาซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งนี้    เนื่องจากการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  การศึกษาจึงต้องดำเนินไปให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงตามคำกล่าวของจอห์น   ดิวอี้ที่ว่า   การศึกษาคือชีวิต  อีกทั้งการศึกษาควรจะมีส่วนทำให้คนในสังคมเจริญก้าวหน้าไปในทางที่ดีกว่าปัจจุบันตามความเชื่อว่า   การศึกษาคือความเจริญงอกงาม
                 การศึกษาเป็นกลไกที่สังคมสร้างขึ้น   เพื่อทำหน้าที่เตรียมสมาชิกที่ดีให้แก่สังคม   ทุกสังคมจำเป็นจะต้องให้การศึกษาแก่สมาชิกที่เกิดใหม่   และสมาชิกทุกคนควรได้รับการศึกษาเพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุขในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้   นั่นคือ  ความหวังที่ว่าการศึกษาตลอดชีวิตเป็นกระบวนการที่จะพัฒนาคุณภาพของชีวิตของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาของสถาบันทางสังคมต่างๆ ได้อย่างดี
                 ดังนั้น   ควรได้พิจารณาความสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิตตามลักษณะปัญหาของสังคม   คือ   ด้านประชากร  สังคม   การเมือง    การศึกษา   เศรษฐกิจ  และวัฒนธรรมอธิบายได้  ดังนี้         
                  1. ความสำคัญด้านประชากร  เนื่องจากประชากรของประเทศมีจำนวนมากขึ้น  ความเจริญทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สาธารณสุขทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้นการดำรงชีวิตของมนุษย์จะต้องไปภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรทุกประเภท   นอกจากนี้  ในสังคมปัจจุบันมนุษย์มีบทบาทมากขึ้นทั้งด้านการพัฒนาความก้าวหน้าของตนเอง   ครอบครัวและสังคมหรือชุมชน  การศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า    ดำรงชีวิตได้อย่างเป็นประโยชน์ทางสังคม   สร้างสรรค์ต่อสังคม  และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จำเป็นจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดยั้งเพื่อให้มนุษย์ทุกเพศทุกวัยได้ดำเนินชีวิตไดอย่างเป็นสุขและเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการสร้างความสุขของสังคมได้ด้วยดี
                    2.  ความสำคัญด้านสังคม  สังคมโลกและสังคมย่อยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ไม่มีการหยุดนิ่ง   การจัดการศึกษาจึงต้องทันต่อตัวแปรที่ผันแปรไปเพื่อประชาชนจะได้ปรับตัวและดำรงอยู่อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสังคมย่อยและสังคมใหญ่     นอกจากนี้   สังคมยังมีความสลับซับซ้อนเกิดสังคมในรูปแบบใหม่ขึ้นมาเป็นลำดับ   เช่นสังคมเกษตรกรรม  สังคมอุตสาหกรรมจึงมีช่องว่างและมีข้อเสียเปรียบได้เปรียบกันอยู่เสมอ   จำเป็นต้องเป็นมีการประสานกันโดยทำให้คนแต่ละสังคมได้เข้าใจบทบาทของตนเองมากที่สุด   จึงต้องมีการศึกษาอยู่เสมอเพื่อที่จะช่วยให้แต่ละคนได้เข้าใจบทบาทของกันและกันที่เปลี่ยนไปสู้การลดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว   ดังนั้น   การใช้วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี   ระบบสื่อมวลชนที่สามารถเผยแพร่ข่าวสารได้รวดเร็วจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาตลอดชีวิต   ความสำคัญอีกแง่หนึ่งในด้านสังคม    การพัฒนาพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ   เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงจำเป็นต้องจัดให้มีการศึกษาหรือได้รับความรู้ในทุก ๆ เรื่องที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต
                     3. ความสำคัญด้านการเมือง    การศึกษาคือเครื่องมือที่ผู้ปกครองประเทศใช้ในการเปลี่ยนแปลงนิสัยมนุษย์   เพื่อก่อให้เกิดรัฐที่มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียว   ถ้าพลเมืองมีการศึกษาเขาจะฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ   ไปอย่างดี   และสามารถเผชิญกับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ   ที่เกิดขึ้นได้นอกนอกจากนี้    ถ้าระบบการศึกษาดีแล้วการพัฒนาปรับปรุงสิ่งใด ๆ ๆก็ตามย่อมทำได้โดยง่าย   แต่ถ้ารัฐทอดทิ้งทางการศึกษาเสียแล้วไม่ว่ารัฐจะกระทำการอื่นใดย่อมไม่บังเกิด   ตามแนวปรัชญาการศึกษาที่กล่าวนี้   การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือของการเมือง   การเมืองเป็นศูนย์กลางมีบทบาทในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ   กำหนดแนวทางในรูปแบบของนโยบาย   พลเมืองของชาติจะต้องมีพฤติกรรมอันสอดคล้องกับนโยบายทางการเมืองเป็นสำคัญ
                      การให้การศึกษาจึงมุ่งสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศให้ประชาชนมีแนวคิด   แนวปฏิบัติ   และความเชื่อไปในทิศทางเดียวกันเพื่อประโยชน์ของการปกครองและเพื่อความสงบสุขในสังคม   หากระบบการศึกษาเจริญถึงขีดสุดประชาชนก็จะมีส่วนร่วมในการปกครองและการตัดสินใจของชาติได้มากขึ้นและดีขึ้น   สามารถเป็นตัวกำหนดระบบอื่นๆ  ประชาชนจึงจำเป็นต้องได้รับการศึกษาตลอดชีวิต
                       4. ความสำคัญด้านการศึกษา   จากปรัชญาการศึกษาที่ว่า   “การศึกษาคือชีวิต”   การศึกษาจึงเกิดขึ้นตลอดชีวิตจึงจำเป็นต้องมีการจัดการศึกษาในลักษณะวิธีการและรูปแบบต่างๆ  เพื่อให้โอกาสการศึกษาแก่ประชาชนทุกคนเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม   นอกจากนี้   การที่ประชนได้รับการศึกษาอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดและเป็นไปได้ตามความปรารถนาของแต่ละคนจึงทำให้การขัดเกลาสังคมเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น   ทั้งนี้   มีผลมาจากการที่ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารและมีแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองไปได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
                        5. ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ   ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ   กล่าวคือ   การเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรม   ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชาชน   ทำให้ประชาชนต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อให้ตนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุขท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมดังกล่าว   การศึกษาหาความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์และทักษะ   หรืออาจเป็นการสร้างสรรค์อาชีพใหม่จะทำให้ประชาชนได้เพิ่มรายได้   ลดรายจ่าย   ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดอาชีพแบบครบวงจรได้ด้วย   การศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น
                        6. ความสำคัญด้านวัฒนธรรม   ระบบการสื่อสารที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทำให้ข่าวสารต่างๆ  รวมทั้งลักษณะทางวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่งไอย่างรวดเร็ว   จึงมีผลกระทบต่อความเชื่อและพฤติกรรมของประชาชน   นำสู่วิถีชีวิตใหม่และค่านิยมใหม่ๆ  ที่อาจไม่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมมักนำไปสู่ความขัดแย้งและปัญหาสังคมได้   การยอมรับและเลียนแบบวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ  จึงต้องได้รับการพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล   ประชาชนจึงต้องมีความเข้าใจวัฒนธรรมต่างๆ  ของชนชาติอื่น   สิ่งเหล่านี้เรียนรู้ได้จากการศึกษาตลอดชีวิต   นอกจากนั้นยังเพิ่มความจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์บำรุงรักษาวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติของตนไว้ 
                         จากความสำคัญที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า   การจัดการศึกษาที่มุ่งการศึกษาตลอดชีวิตนั้นบังเกิดประโยชน์ทั้งต่อบุคคล   ครอบครัว   ชุมชน   และประเทศชาติเป็นอเนกประการ   ทั้งนี้   ด้วยความมุ่งหวังสำคัญที่จะสร้างคุณค่าแก่มนุษย์ให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขอำนวยประโยชน์ได้ทั้งต่อตนเองและสังคม   

  

                         
 

  

 
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                        
                                                                                                       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น